รถเครนคืออะไร มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เครน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปั้นจั่น“
“เครน” คือ เครื่องจักรกลที่ใช้ยกสิ่งของหนัก ขึ้นลงตามแนวดิ่ง และเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้น ในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ มี 2 แบบ คือ เครนเคลื่อนที่ได้ (Mobile Cranes) และเครนเคลื่อนที่ไม่ได้ (Stationary Cranes)
เครนมี 3 ประเภท คือ
1. เครนเหนือศรีษะ และเครนขาสูง (Overhead Crane and Gentry Crane)
2. เครนหอสูง (Tower Crane)
3. รถเครน เรือเครน (Mobile Crane)
เครนมี 2 แบบ คือ
1. เครนชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Cranes) หมายความว่า เครนที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุม และเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนยานที่ขับเคลื่อนในตัวเอง
2. เครนชนิดอยู่กับที่ (Stationary Cranes) หมายความว่า เครนที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ควบคุมและเครื่องต้นกำลังอยู่ในตัว ซึ่งติดตั้งอยู่บนหอสูง ขาตั้งหรือ บนล้อเลื่อน
เครนชนิดเคลื่อนที่ ( Mobile Cranes )
1. รถเครนตีนตะขาบ ( Crawler Crane ) คือ เครนที่มีการเคลื่อนที่ด้วยตีนตะขาบ และส่วนใหญ่มีบูมเป็นแบบบูมสาน (Lattices Boom) เหมาะสมกับการใช้ในไซด์งานที่บุกเบิกใหม่ พื้นที่ยังไม่ถูกบดอัด ติดหล่มยาก แต่ไม่แนะนำให้ใช้งานแบบวิ่งต่อเนื่องเป็นระยะทางคราวละหลายร้อยเมตร เพราะจะทำให้ชุดกลไกของล้อสึกเร็ว มีขนาดตั้งแต่ 50 ตัน ไปจนถึง 100 ตัน
2. รถเครนล้อยาง ( All Terrain Cranes ) คือ รถบรรทุกล้อยางที่มีเครนอยู่ด้านหลังหรือด้านบน ล้อยางเคลื่อนที่ทุกล้อ สามารถวิ่งได้เร็วคล้ายรถบรรทุก ทำงานในพื้นที่ขรุขระหรือพื้นที่สมบุกสมบันได้ รถเครนล้อยางนั้นจะสมบุกสมบันน้อยกว่าเครนรถแบบตีนตะขาบ มีบูมเฟรมเป็นท่อนๆ เคลื่อนที่เข้าออกภายในบูมท่อนแรก มุมเลี้ยวแคบควบคุมให้เคลื่อนที่เข้าพื้นที่กีดขวางมุมหักศอก และองศาเลี้ยวน้อยๆ ได้ดี มีขนาดตั้งแต่ 25 ตัน ขึ้นไป
3. รถเครน 4 ล้อ ( Rough Terrain Cranes ) คือ รถแครนที่ออกแบบเพื่อใช้งานในสภาพพื้นที่ที่ขรุขระ ขับเคลื่อน 2 ล้อ หรือ 4 ล้อ ไม่เหมาะสมกับงานระยะทางที่วิ่งไกล ทำงานในพื้นที่บุกเบิกใหม่ได้หากติดหล่มมีชุดกว้านช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ไม่สมบุกสมบันเหมือนเครนล้อตีนตะขาบ, วิ่งข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัดได้แต่ใช้ความเร็วได้ต่ำกว่าทรัคเครน มีขนาดตั้งแต่ 8 ตัน ขึ้นไป
4. เครนติดรถบรรทุก (Truck Loader Crane) คือ รถบรรทุกที่มีเครนติดตั้งอยู่บนรถบรรทุก ใช้ยกของขึ้นตัวรถบรรทุกขนาดไม่ใหญ่มาก มีแบบพับหลัง และแบบปกติ เครนติดรถบรรทุกขนาดใหญ่ ๆ สามารถยกของได้ถึง 8 ตัน ตัวรถสามารถวิ่งด้วยความเร็วได้ เลี่ยวได้มุมแคบ
เครนชนิดอยู่กับที่ ( Stationary Cranes )
1. เครนหอสูงหรือปั้นจั่นหอสูง ( Tower Cranes ) พื้นฐานการเคลื่อนที่ขนย้ายของได้ 6 ทิศทาง ติดตั้งรางวิ่ง (Crane Run Way) กับโครงสร้างสูงกว่าระดับพื้น
2. เครนราง ( Overhead Cranes )
3. เครนขาสูง ( Gantry Cranes )
4. เครนขาสูงแบบข้างเดียว (Semi Gantry Cranes)
5. เครนติดผนัง ( Wall Cranes )
สาเหตุและอุบัติเหตุ ในการใช้งาน "รถเครน"
ที่ป้องกันได้ เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
– สภาวะไม่ปลอดภัย
– การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย
ที่ป้องกันไม่ได้ จะเกิดขึ้นเพียง 2% คือ ภัยธรรมชาติ
สภาวะที่ไม่ปลอดภัย เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุประมาณ 10% ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด ที่มาของสาเหตุอาจจะแบ่งได้จากองค์ประกอบ 3 ประการ
– เครื่องจักรอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่มีอุปกรณ์ช่วยความปลอดภัย ระบบเบรคไม่สมบูรณ์ เป็นต้น
– สภาพพื้นที่ทำงาน อยู่ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย เช่น ทางวิ่งมีผิวจราจรเป็นหลุมเป็นบ่อ ปฏิบัติงานใกล้ที่ลาดขัน สภาพพื้นที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เป็นต้น
– ตัวบุคคล ไม่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล แต่งกายไม่รัดกุม เป็นต้น
การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย (การกระทำที่ไม่ปลอดภัย) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุประมาณ 88% ของอุบัติเหตุทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น มาจากองค์ประกอบ 3 ประการ
– ขาดความรู้ เป็นสาเหตุร้ายแรงมากที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพราะผ้ปฏิบัติงานขาดความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เช่น ขาดความรู้เกี่ยวกับการบังคับปั้นจั่นคันนั้น ขาดความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ผูกมัด ยกเคลื่อนย้ายวัสดุ คำนวณขนาดแผ่นรองขาไม่เป็น เป็นต้น
– เสี่ยง การที่ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เรื่องความปลอดภัยดีแต่ชอบปฏิบัติงานด้วยการเสี่ยง เช่น ใช้ปั้นจั่นเกินพิกัด ปฏิบัติงานด้วยความรีบเร่งเกินสมควร ลัดขั้นตอน ไม่ใช้เครื่องช่วยความปลอดภัย เช่น ใช้ระบบฝืน PTO2 สภาพพื้นที่อ่อนแต่ใช้แผ่นเหล็กขนาดเล็กรองขาปั้นจั่น หรือไม่ได้สำรวจพื้นที่ก่อนปฏิบัติงานการใช้ปั้นจั่นโดยไม่มีหน้าที่มอบหมาย เล่นตลอกคะนองในขณะปฏิบัติงาน เป็นต้น
– ทัศนคติไม่ถูกต้อง เช่น มีความรู้สึกต่ออุบัติเหตุว่าเกิดขึ้นเพราะโชคร้าย เคราะห์ร้าย ดวงไม่ดี ฯลฯ จึงไม่ได้หาวิธีการป้องกันอุบัติเหตุ
การใช้งานรถเครนอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันรถเครนได้เข้าไปมีบทบาทในการทำงานประเภทต่างๆ เช่น งานก่อสร้าง งานขนส่ง งานโรงงานอุตสาหกรรม งานซ่อมบำรุง และงานยกย้ายทั่วไป จากความหลากหลายในการทำงานอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานควรปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1. ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล
2. ไม่ควรปฏิบัติงานเมื่อรู้สึกป่วยหรือมีอาคารเมาค้าง
3. ควรศึกษาคู่มือการใช้งานให้เข้าใจ สังเกตป้ายคำเตือนต่าง ๆ และปฎิบัติตาม
4. ควรมีถังดับเพลิง และชุดปฐมพยาบาลติดไว้ในรถเครน
5. ควรทำความสะอาดป้ายเตือนต่าง ๆ ให้มองเห็นชัดเจน
6. ไม่ควรวางอุปกรณ์เกะกะภายในห้องควบคุม
7. ควรปรับเบาะนั่งให้เหมาะสมกับสรีระร่างกาย
8. ไม่ควรวางวัตถุหรือให้บุคคลอื่นนั่งบนรถเครนขณะเดินทาง
9. ควรเปิดประตูหน้าต่างหากมีการติดตั้งเครื่องยนต์ภายในอาคารเพื่อระบายอากาศ
10. ไม่ทิ้งเครื่องมือ เศษผ้าไว้บนเครื่องยนต์
11. ไม่ควรสตาร์ทเครื่องยนต์ เมื่ออยู่ภายนอกห้องควบคุม และให้สัญญาณเสียงทุกครั้งก่อนการสตาร์ท
12. ควรมีป้ายเตือน เมื่อมีการซ่อม หรือการห้ามใช้งาน
13. ตำแหน่งคันบังคับ และคันเกียร์ต้องอยู่ในตำแหน่งว่าง หรือหยุดทำงานก่อนสตาร์ทเครื่อง
14. ตำแหน่ง PTO ต้องอยู่ตำแหน่งหยุดทำงานก่อนรถเดินทาง
15. ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรเมื่อใช้งานบนท้องถนน
16. ไม่อนุญาตให้มีผู้โดยสารภายในห้องควบคุมระหว่างวิ่ง
17. ควรปิดไฟสำหรับทำงานในขณะทำงานบนท้องถนน
18. ไม่ควรดับเครื่องยนต์ขณะวิ่งลงทางลาดชัน
19. ไม่ออกตัวแรงหรือเบรกกระทันหัน ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน
20. ควรมีผู้ช่วยในการให้สัญญาณเมื่อผ่านถนนแคบ
21. ให้ระมัดระวังเมื่อต้องวิ่งลอดอุโมงค์หรือสายไฟฟ้า
22. การหยุดรถเมื่อติดสัญญาณ ให้มีระยะจอดที่ปลอดภัย
23. ควรให้ตำแหน่งพวงมาลัย และล้อตรงขณะจอด
24. ควรตรวจสอบแรงดันลมให้ปกติ และใช้เบรกเท้าก่อนการปลดเบรกมือ
25. ให้เกียร์อยู่ตำแหน่ง “ว่าง” ขณะจอดชั่วคราว
26. ควรหมั่นสังเกตุมาตรวัดแรงดันลมเบรกบ่อย ๆ
27. ไม่ควรเหยียบเบรกเท้าค้างไว้ขณะวิ่ง
28. ควรใช้เกียร์ต่ำขณะวิ่งลงทางลาดชัน
29. เมื่อต้องวิ่งผ่านแอ่งน้ำต้องระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง หรือเสียการควบคุมรถได้
30. เมื่อรถเกิดเสียให้จอดรถชิดขอบทางด้านซ้าย พร้อมให้สัญญาณเตือนรถจอดฉุกเฉิน
31. ควรมีการประชุมวางแผนก่อนการทำงาน
32. การตรวจสอบบริเวณพื้นที่ทำงานให้มีความปลอดภัยในการทำงาน
33. ควรกันผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าใกล้บริเวณที่รถเครนทำงาน
34. ควรมีผู้ช่วยให้สัญญาณเมื่อทำงานในพื้นที่ที่จำกัด
35. ควรทำความสะอาดกระจกด้านหน้า กระจกมองข้าง และไฟสัญญาณ ก่อนการทำงาน
36. ควรจัดหาแสงสว่างให้เพียงพอ สำหรับการทำงานในพื้นที่แสงสว่างน้อย หรือวิสัยทัศน์
37. ควรมีเครื่องกั้นและผู้ให้สัญญาณเมื่อต้องการทำงานบนถนนและทำแนวกั้นเขตสำหรับพื้นที่ทำงาน
38. ควรมีฉนวนหุ้มสายไฟ และรักษาระยะการทำงานที่ปลอดภัยจากแนวสายไฟ
39. ควรระวังอันตรายเมื่อทำงานใกล้แนวสัญญาณวิทยุ
40. ควรหยุดทำงาน และเก็บบูมเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง หมอกลงจัด หรือลมกรรโชกแรง
41. ควรจัดให้มีผู้ให้สัญญาณเพียงคนเดียว
42. ควรมีการให้สัญญาณการทำงานเมื่อมีเครนมากกว่า 1 คัน
43. ควรใช้บันได หรือมือจับในการขึ้นลงเครน
44. ควรตรวจสอบระบบตัดการทำงานรอก ก่อนการทำงานจริง
45. ควรใช้แผ่นรองขา เมื่อตั้งเครนบนพื้นถนน ปูด้วยก้อนอิฐ
46. ควรสำรวจว่ามีแนวท่อต่าง ๆ ฝังอยู่ใต้ขาตั้งเครนหรือไม่
47. ควรระมัดระวังเมื่อตั้งเครน ใกล้พื้นที่ที่เป็นทางลาด
48. ควรปรับพื้นที่เป็นทางลาดให้แน่นและได้ระดับก่อน ไม่ควรใช้ไม้รอง หรือปรับระดับในการตั้งเครน
49. ควรปรับล๊อกระบบช่วงล่างก่อนการตั้งเครน
50. ตรวจสอบระยะการยืดคานขาเครนให้ถูกต้องตามที่ใช้งาน
51. ปรับระดับรถเครนให้ได้แนวระนาบ และขาเครนทุกด้านต้องกดลงพื้น ล้อทุกล้อต้องลอยพ้นพื้นดิน
52. พื้นที่ตั้งเครนต้องรับน้ำหนักที่ลงขาเครนได้ขณะเริ่มยก
53. ห้ามใช้น้ำหนักถ่วงหรือเหนี่ยวรั้งคานขาเครนขณะทำการยก
54. ควรยกน้ำหนักไม่เกินจากค่าที่กำหนดในตารางน้ำหนัก
55. ไม่ควรตัดหรือปิดการทำงานของระบบความปลอดภัยต่างๆ
56. ไม่หยุดคันบังคับกะทันหัน เพราะจะทำให้ชิ้นงานเกิดการแกว่งไปมาเป็นอันตรายได้
57. ควรใช้เชือกประคองชิ้นงานขณะยก เพื่อป้องกันการหมุนไปมาของชิ้นงาน
58. ไม่ควรยกชิ้นงานมากกว่าหนึ่งชิ้น หรือชิ้นงานที่ไม่ทราบขนาดหรือน้ำหนักที่แท้จริง
59. ควรมีช่วงห่างระหว่างสิ่งกีดขวาง กับรถเครนให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย
60. ควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการทำงานรื้อถอน
61. ควรเหลือรอบของลวดสลิงในกว้านไม่น้อยกว่า 3 รอบ
62. การใช้งานสองรอกพร้อมกัน น้ำหนักชิ้นงานต้องไม่เกินกว่าน้ำหนักของรอกเล็กจะรับได้
63. ควรเผื่อน้ำหนักสำหรับการยกชิ้นงานขึ้นจากน้ำ และหยุดสักครู่ในขณะที่ชิ้นงานจะลอยขึ้นจากผิวน้ำ
64. ห้ามเพิ่มน้ำหนักถ่วงท้าย เกินกว่าที่ออกแบบไว้
65. ไม่ควรถอดจิ๊ปออกขณะยก เพราะเครนส่วนใหญ่ถูกออกแบบให้จิ๊ปเป็นตัวช่วยถ่วงน้ำหนักขณะยก
66. ไม่ควรละสายตาจากชิ้นงานขณะยก
67. ไม่ควบคุมคันบังคับจากภายนอกห้องควบคุม หรือออกจากห้องควบคุมขณะยกชิ้นงาน
68. ควรตรวจสอบความถูกต้องของการผูกจับชิ้นงานก่อนยกทุกครั้ง
69. ตรวจสอบลวดสลิงที่ยึดจับให้ตึงก่อนยกชิ้นงานพ้นจากพื้นดิน
70. ตรวจสอบให้สลักกันสลิงที่ตะขอให้อยู่ในสภาพใช้งาน
71. ควรเผื่อระยะการยกเนื่องจากบูมเครนจะเกิดการโก่งตัวขณะเริ่มยกน้ำหนักจะทำให้ค่าระยะห่างการยกเพิ่มมากขึ้นตามความยาวของการใช้บูม
72. ควรให้รอกได้แนวดิ่งก่อน เมื่อชิ้นงานลอยพ้นพื้นดิน จึงยกให้ลอยสูงขึ้น
73. ไม่ควรยึดบูม ตั้งบูมเพื่อยกน้ำหนัก หรือในการดัน หรือผลักชิ้นงาน
74. ควรใช้เบรกกว้านเมื่อต้องยกชิ้นงานลอยค้างเป็นเวลานาน
75. ไม่ควรปล่อยให้ผู้อื่นอยู่ใกล้รถเครนขณะทำงาน และไม่ควรยกชิ้นงานข้ามศีรษะผู้อื่น
76. เมื่อลวดสลิงเกิดไปเกี่ยวสิ่งของต่างๆ ควรวางชิ้นงานแล้วตรวจสอบลวดสลิงเสียก่อน
77. ไม่ควรหยุดการตั้ง-นอนบูมอย่างกะทันหัน เพราะอาจทำให้เครนคว่ำ หรือหงายหลังได้
78. ไม่ควรปล่อยให้คนเกาะติดไปกับชิ้นงานขณะยก
79. ไม่ควรพยายามยกชิ้นงานจากด้านข้างด้วยการสวิงเพื่อยกขณะของยังไม่ลอย
80. ไม่ควรยกชิ้นงานเมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นไหวของพื้นดิน หยุดเพื่อตรวจสอบพื้นดิน และตัวรถก่อนการยก
81. ควรระมัดระวังขณะนอนบูม ควรทำงานอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันการยกเกินระยะ
82. ควรระวังรอกกระแทกปลายบูม ขณะยืดบูม หรือนอนบูม ควรเปิดระบบตัดรอกไว้ให้ทำงานปกติ
83. ควรทดสลิงรอกให้เหมาะสมกับน้ำหนักที่จะยก
84. เมื่อยกชิ้นงานลอยพ้นจากพื้นประมาณ 10 เซนติมตร ให้หยุดเพื่อตรวจสอบสิ่งผิดปกติ
85. ไม่ควรปล่อยสลิงออกจากกว้านขณะรอกแตะพื้นแล้วเพราะสลิงที่กว้านจะเกิดการฟูได้
86. ไม่ควรใช้เครนในการทำงานยกสองรอกพร้อมกันโดยที่ชิ้นงานเป็นคนละชิ้นกัน อาจทำให้บูมเสียหายได้
87. ควรจัดเรียงสลิงให้ได้แนว เพื่อป้องกันการหมุนของชิ้นงาน
88. ควรใช้ช่วงความยาวบูมให้ลำดับถูกต้องกับน้ำหนักที่จะยก
89. ควรตรวจสอบสิ่งกีดขวางในแนวสลิงและให้สัญญาณเสียงเตือนก่อนการสวิง
90. ควรใช้เบรกสวิง เมื่อรถเครนหมุ่นได้ตำแหน่งแล้ว
91. ควรเปิดระบบฟรีสวิงเพื่อให้แนวรอกตรงกับศูนย์ถ่วงชิ้นงานก่อนการยก แล้วค่อยใช้ระบบสวิงปกติ
92. ไม่ควรสวิงด้วยความเร็วสูง ขณะยกชิ้นงานจะทำให้ระยะห่างจากการยกเพิ่มมากขึ้นจากการเหวี่ยง
93. ในขณะที่ขาเครนแต่ละข้างยืดไม่เท่ากัน ไม่ควรสวิงไปในด้านที่ขาเครนยืดออกไปไม่เต็ม หรือสั้นกว่า
94. การใช้งานจิ๊ป ควรศึกษาคู่มือการใช้งานให้เข้าใจ และติดตั้งฟังค์ชั่นการทำงานให้ถูกต้อง
95. สำหรับการยกที่เคนสองคันควรใช้เครนที่มีประสิทธิภาพหรือยกน้ำหนักได้เท่ากัน
96. ควรระมัดระวังการใช้ความยาวสลิงเมื่อใช้รอกทำงานในหลุมลึก
97. ควรจัดบูม จิ๊ปเข้าไปในที่ให้เรียบร้อย หลังใช้งานเสร็จ
98. ควรจอดรถเครนในที่ที่ปลอดภัย ไม่ควรจอดในที่ลาดเอียงและป้องกันไม่ให้เครนเคลื่อนที่ได้
99. ควรมีการตรวจสอบสภาพรถเครนหลังการใช้งาน
100. ควรดับเครื่องยนต์ ปิดล็อกประตู สำรวจความเรียบร้อยก่อนออกห่างจากรถเครน